โครงการเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชน งานสร้างสรรค์ด้านศิลปะการแสดง (นาฏประดิษฐ์)

รศ.ดร.สมหมาย  ผิวสอาด เป็นประธานเปิดงานสร้างสรรค์ด้านศิลปะการแสดง (นาฏประดิษฐ์) ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ ถ่ายทอดเรื่องราวจากวัฒนธรรมของชนชาติไทยสู่การเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบนาฏศิลป์ ภายใต้โครงการเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ และการศึกษาที่มีคุณภาพ วันที่ 3 เมษายน 2567 ณ หอประชุมราชมงคล มทร.ธัญบุรี

6 ชุดการแสดง ‘นศ.นาฏดุริยางคศิลป์ มทร.ธัญบุรี’ เผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชน

ลงสรงพระสุพรรณกัลยา นางสาวสยาม แต่งหย้องคัวงาม แม่หญิงล้านนา คอนหาม ข้ามท่ง เสาหลักบ้าน ศาลหลักเมือง และโคกพนมดี 6 ชุดการแสดง โครงการเผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชน (ประเมินสมรรถะและผลสัมฤทธิ์รายวิชานาฏประดิษฐ์) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานาฏศิลปไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางค์ศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด เป็นประธานในพิธีเปิด และนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอหนองเสือ ให้เกียรติเข้าร่วมชมการแสดงในครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช บุญทองเล็ก คณบดีและคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผศ.ดร.มาโนช บุญทองเล็ก เผยว่า คณาจารย์และนักศึกษาสาชาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นอเนกประการ ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริม ต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา นักศึกษาจึงนำเสนอการแสดงสร้างสรรค์มาเผยแผ่ให้ผู้ที่สนใจได้รับชม รวมทั้งให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมภาคภูมิใจ หวงแหน และ อนุรักษ์ให้คงอยู่สืบทอด ถึงอนุชนรุ่นหลังสืบไป

“เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ยังต้องแผ่กึ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผลอยู่เสมอ จึงต้องมีการสนับสนุนให้พัฒนาผลงานทางด้านนาฎศิลป์อย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวแปรสำคัญในการสร้างสรรค์งาน คือ นักศึกษา คณาจารย์ เพื่อยกระดับกำลังคน Up skill  Re skill  New skill ดังนั้นการให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้เรียนให้ได้รับองค์ความรู้ใหม่จากผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ โดยบูรณาการการเรียนการสอนแบบใช้งานวิจัยเป็นฐาน (research-based leaming) ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับกระบวนการวิจัย นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบการแสดงและบทความสร้างสรรค์ เน้นการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning ) เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในการปฏิบัติงาน ซึ่งตรงกับประเด็นยุทธศาสตร์การบริการวิชาการและเพิ่มคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย”

ตัวแทนนักศึกผู้จัดโครงการ นางสาวปิยภรณ์ พึ่งสุธา เล่าว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นำเสนอผลงานสร้างสรรค์จากการศึกษาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นทางนาฏศิลป์และดนตรี นำมาบูรณาการและพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาและนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบของการแสดง ส่งเสริมกิจกรรมให้เกิดการบูรณาการกับการเรียนการสอนกับการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้นักศึกษาและอาจารย์แสดงศักยภาพและมีการเผยแผ่ผลงานการแสดงสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งความรู้แก่ผู้ที่สนใจ เสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านการแสดงแก่นักศึกษา และเผยแผ่ชื่อเสียงของภาควิชา ฯ คณะฯ และ มหาวิทยาลัยฯนาฏศิลป์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องการการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์

ทางด้าน นางสาวอรัญญา มีห่วง ตัวแทนนักศึกษาชุดการแสดงลงสรงพระสุพรรณกัลยา เล่าว่า นาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์เชิงจารีต ชุดการแสดงลงสรงพระสุพรรณกัลยา เห็นถึงจารีตวิธีการรำลงสรงแต่งตัวของพระสุพรรณกัลยา ตามแบบแผนจารีตประเพณีของการแสดงละครใน กระบวนการท่ารำ จะบรรยายถึง วิธีการอาบน้ำ วิธีทาแป้ง และใส่น้ำหอม ที่ได้ทำการลงสรงทรงเครื่อง เพื่อจะเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นองค์ประกันอยู่กรุงหงสาวดี นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงขนบประเพณีไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ในการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดสดชื่น แต่งกายสวมเครื่องประดับให้สมกับฐานันดรศักดิ์ ก่อนที่จะทำภารกิจที่สำคัญ และเพื่อเป็นแบบอย่างในการคิดสร้างสรรค์การแสดง รำลงสรงทรงเครื่อง แก่นักสร้างสรรค์รุ่นต่อไป

เช่นเดียวกับตัวแทนชุดการแสดงเสาหลักบ้าน ศาลหลักเมือง นางสาวภัทธานิษฐ์ กิ่งรัตน์ เล่าว่า ต้องการพัฒนานวัตกรรมทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมคุณค่าและอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยผ่านศิลปะการแสดงสร้างสรรค์วิถีวัฒนธรรมสร้างนาฎกรรมเที่ยวชุมชน ชุด เสาหลักบ้าน ศาลหลักเมือง โดยมีการศึกษาสถานการณ์บริบทพื้นที่ พิธีกรรม ประเพณี วิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับเสาหลักเมืองมาเป็นแนวทางในการพัฒนาศิลปะการแสดงพื้นถิ่นของจังหวัดปทุมธานี หลังจากการสร้างสรรค์ผลงานการแสดง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาศิลปะการแสดงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืน

โดยในการแสดงครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์ประเมินสมรรถะและผลสัมฤทธิ์ จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นราพงษ์ จรัสศรี ศาสตราจารย์วิจัยประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์อมรา กล่ำเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รองศาสตราจารย์ฉันทนา เอี่ยมสกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ชวลิต สุนทรานนท์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม อาจารย์สณี ลิมปปิยพันธุ์ เทศบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และคุณอสมา ปรีดีสนิท Instructor & Choreographer บริษัท วาไรตี้ แดนซ์ คอมพานี มาให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ในการ สร้างสรรค์ผลงาน และ เพื่อให้ผลงานของนักศึกษามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ ข่าว และเผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี