ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

มทร.ธัญบุรี จับมือ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย พัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยมี รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และ ผศ.ดร.นงนุช เกตุ้ย กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

Silhouette Studio Crack

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ใจความสำคัญอันเป็นวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการและกิจกรรมทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างสมาคมและมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างและขยายโอกาสการเรียนรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักศึกษา อาจารย์ และบุคคลทั่วไป ซึ่งจะได้ก่อให้เกิดแนวทางในการร่วมกันในการทำกิจกรรม โครงงาน งานวิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย และสมาคมฯ จะให้ความร่วมมือดำเนินการจัดกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแข่งขันทางวิชาการ งานประชุมวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร ด้านวิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย สมาชิกสมาคม และผู้สนใจทั่วไป ขณะเดียวกันยังร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัย โครงการวิจัยและพัฒนา หรือโครงการอื่นแนวสร้างสรรค์และมีประโยชน์ เพื่อขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ และให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ของมหาวิทยาลัย และสมาชิกในเครือข่ายของสมาคมสามารถใช้อุปกรณ์ เครื่องมือและสถานที่ของสมาคม ตามที่สองฝ่ายมีความเห็นพ้องกัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะให้การส่งเสริมและสนับสนุน นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวิชาการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และส่งเสริมเพื่อให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การพัฒนากำลังคนเพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้งานและบริการภาครัฐและการศึกษา.

 

ภาพ ข่าว และเผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี