โครงการเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กับศิลปวัฒนธรรม “สืบสานงานศิลป์ สู่นวัตกรรมชุมชน”

นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดโครงการเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กับศิลปวัฒนธรรม “สืบสานงานศิลป์ สู่นวัตกรรมชุมชน” คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยมี รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต้อบรับ ในการนี้ นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายสภามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี ดร.ชุมพล พรประภา  และ รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงวุฒิ พร้อมผู้บริหาร ให้เกียรติร่วมงาน ซึ่งนายจักรพงศ์ ปิติพรสัมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสุวรรณเกลียวทอง จำกัด ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ธาราบางคล้า ริเวียร่า รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผศ.ดร.สาคร เผยว่า โครงการเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กับศิลปวัฒนธรรมไทย “สืบสานงานศิลป์ สู่นวัตกรรมชุมชน” เป็นการแสดงผลงานทางวิชาการ และวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ จากความคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการทำนุบำรุง อนุรักษ์ เผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย ของอาจารย์และนักศึกษา คณะเทคโนโลยี  คหกรรมศาสตร์ เป็นวิชาชีพบนพื้นฐานการดำรงชีวิต ที่มีองค์ความรู้และมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ จัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างนวัตกรด้านวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ การวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมคหกรรมศาสตร์ที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ การบริการวิชาการและเพิ่มคุณค่า ด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรม ด้านคหกรรมศาสตร์ อย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (Thailand Qualification Flame Work : TQF) ให้มีกิจกรรมการบูรณาการด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ส่งเสริม  สืบทอด  เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยไปสู่ชุมชน และนานาชาติ  เป็นการบริการวิชาการและเพิ่มคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรม จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา “คณาจารย์ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ได้รับความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์และช่วยเผยแพร่ ส่งเสริมการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาไทย และสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมประกวดทักษะจะได้รับความรู้ความเข้าใจในงานด้านคหกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิต นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพ การทำงานเป็นทีม และนำเสนอผลงานด้านวิชาชีพสู่สาธารณชน”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจิตร สนหอม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ยังเผยอีกว่า องค์ความรู้วิชาชีพ คหกรรมศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในลักษณะ Tacit knowledge ผ่านทักษะและความชำนาญที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง รวมทั้งช่วยในการคิดนำทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทุนทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องด้วยประเทศไทยมีความโดดเด่นและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีผู้มีความรู้ด้านภูมิปัญญาไทยมากมายกระจายอยู่ทุกพื้นที่ ซึ่งหากสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทุนดังกล่าวได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะนำมาซึ่งการสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย  ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เกิดแนวความคิดในการที่จะนำเอาวัฒนธรรมที่ดีงามมาพัฒนาให้เกิดคุณค่าและมูลค่า อันส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามในที่สุด

กิจกรรมตลอด 3 วัน ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการ “สืบสานงานศิลป์ สู่นวัตกรรมชุมชน”สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม “สืบสานภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมสิ่งทอ” สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ “นวัตกรรมอาหารสืบสานภูมิปัญญาชุมชน” สาขาวิชางานประดิษฐ์สร้างสรรค์ “สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาพัฒนาต่อยอด” สาขาวิชาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย “นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย” หลักสูตรคหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต “มหาบัณฑิตสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อวิถีคหกรรมที่ยั่งยืน นิทรรศการบูรณาการคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะการแพทย์บูรณาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์

การสาธิตด้านวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชางานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เครื่องแขวนจากใบลาน สาขาวิชาการอาหารและโภชนาการ “พิซซ่าธาราบางคล้า” สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม “ศิลปะผ้าย้อมคราม”สาขาวิชาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย “สื่อการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย” หลักสูตรคหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต “มาลัยดินไทยสามพระทวน” การบริการวิชาการสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ “ขนมทองอัดเสริมแป้งกล้วยน้ำว้า” สาขาวิชาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย “ถุงผ้าสักหลาด DIY” สาขาวิชางานประดิษฐ์สร้างสรรค์ “ร้อยมาลัยจากใบลาน” หลักสูตรคหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต “ถุงหอมปลาแปดริ้ว” การประกวดแข่งขันทักษะวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ “กระเช้าสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์นวัตวิถี” ชิงถ้วยรางวัลจากสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปภัมภ์ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย และการออกบูทจำหน่ายสินค้าโอทอปและผลิตภัณฑ์ชุมชน

สำหรับผลการประกวดแข่งขัน กระเช้าสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์นวัตวิถี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ลำไยทีม สับ สับ สับ! จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร รางวัลรองชนะเลิศลำดับ 1 ได้แก่ การช่างสตรีพระนครใต้ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และรางวัลรองชนะเลิศลำดับ 2 ได้แก่ ทีมบุญมณี จาก ชุมชนบ้านหัวไทรหมู่ 1 โดยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี – โท สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2549-3161 หรือทาง www.het.rmutt.ac.th

 

ภาพ ข่าว และเผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี