แถลงความสำเร็จโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง สู่ห้องเรียนเสมือนจริง”

สำเร็จ!! พัฒนาครูด้วยเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส

สพฐ. – มทร.ธัญบุรี เสริมแกร่งครู ด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคตการศึกษาไทย

 

(17 กรกฎาคม 2566) – สพฐ. จับมือกับ มทร.ธัญบุรี แถลงความสำเร็จโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง สู่ห้องเรียนเสมือนจริง” พัฒนาครูทั่วประเทศ

กว่า 15,000 ราย ด้วยเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ย้ำชัดเป็นการเสริมแกร่งด้านเทคโนโลยีแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคตการศึกษาไทย ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี ดีดีมอลล์ จตุจักร

นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. เผยว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับทาง มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินโครงการการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง สู่ห้องเรียนเสมือนจริง หรือในชื่อของ Metaverse go to Schools จึงได้แถลงความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ภายใต้กิจกรรม Succession of Metaverse go to Schools  อนาคตของการศึกษาไทย “The Future of Thailand Education” ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีเป็นอย่างมาก มีครูที่สนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการ กว่า 16,230 คน จาก 382 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยครูได้เข้ารับการอบรมจากวิทยากรผู้ทรงวุฒิ ตามที่โครงการกำหนด จากนั้นครูได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากวิทยากร ออกแบบผลงานสื่อการสอนรูปแบบ Metaverse ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สนใจ และส่งผลงานมาเข้าประกวดในกิจกรรมของโครงการฯ กว่า 6,000 ผลงาน

ขณะเดียวกันครูที่เข้าร่วมโครงการได้เข้ารับการอบรมและสอบมาตรฐานสากล โดยพิจารณาคัดเลือกครู

ที่มีผลคะแนนสอบ Post-Test สูงสุด จากจำนวนครูที่เข้าร่วมอบรมทั้งหมด เพื่อเข้ารับการอบรมและสอบมาตรฐานสากลด้านการเป็นนักการศึกษา ด้วย Microsoft Certified Educator โดยหลังจากทดสอบเรียบร้อย

มีครูที่ได้รับใบประกาศมาตรฐานสากล Microsoft Certified Educator มากถึง 695 คน รวมถึงมีครูที่ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้าน Metaverse เป็นรางวัล Top Ten จำนวน 80 รางวัล จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรางวัล Top of The Top จำนวน 8 รางวัล จากสุดยอดผลงานของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ร่วมด้วย และเชื่อมั่นว่า Metaverse go to schools ดังกล่าวนี้จะจุดกำเนิด การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนรูปแบบโลกเสมือนจริง และยังถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตของการศึกษาไทย เพื่อที่จะสร้างและสนับสนุนสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการศึกษายุคใหม่ต่อไปได้

ด้าน รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

(มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทั้ง มทร.ธัญบุรี และ สพฐ. เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการสร้างห้องเรียน หรือสร้างบทเรียนรูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริงให้กับผู้เรียน ให้พร้อมรับกับโลกแห่งอนาคต และขอแสดงความยินดีสถานศึกษาดีเด่นที่สนับสนุนโครงการทั้ง 8 แห่ง คือ โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม โรงเรียนน้ำพองศึกษา โรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวนิช) และโรงเรียนวัดสุทธิวราราม รวมถึงขอขอบคุณ สพฐ. ที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่น

ต่อการทำงานของ มทร.ธัญบุรี และให้การสนับสนุนโครงการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลผลิตของโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ จะได้รับการขยายผลต่อยอด และถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของประเทศไทย

ขณะที่ นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่าโครงการ Metaverse go to schools ที่เกิดขึ้นและสำเร็จลุล่วง ที่สำคัญต้องขอบคุณ คุณครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา ที่ให้

ความร่วมมือ ตอบรับต่อตัวโครงการเป็นอย่างดี และอยากให้ครูได้ขยายผลความสำเร็จ แบ่งปันทักษะ ประสบการณ์ไปยังเพื่อนครูและคนรอบข้างต่อไป เพื่อกระตุ้นและเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ที่จะมาเสริมการเรียนการสอน และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไปได้

 

ภาพ ข่าว และเผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี