หอพระพุทธพิริยมงคล
พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยฯ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ กราบไหว้ และปลูกฝังให้นักศึกษาตระหนักถึงหน้าที่ชาวพุทธ
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้สร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยฯ ขนาดหน้าตัก 45 นิ้ว ด้วยเนื้อนวโลหะ ผลงานการออกแบบโดย อาจารย์บำรุงศักดิ์ กองสุข บัณฑิตกิตติมศักดิ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันแห่งการศึกษา จึงได้มุ่งเน้นในเรื่องของ สติ สมาธิ ปัญญา โดยด้านบนสุดตรงพระเศียรลักษณะจะเป็นดอกบัวตูม เปรียบเหมือนปัญญา และมหาวิทยาลัยฯ ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ลักษณะพระพุทธรูปจะนั่งขัดสมาธิเพชร โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุคของเชียงแสนและศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ในส่วนของพระวรกายจีวร ได้รับแนวคิดมาจากศิลปะอินเดียแบบคุปตะ นั่งอยู่บนฐานบัว โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ได้อัญเชิญตราประจำพระองค์ (สธ.) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประดิษฐานบนผ้าทิพย์ของพระพุทธรูป เพื่อเป็นศาสนสถานและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา และเพื่อความเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งแก่มหาวิทยาลัยฯ
พระพุทธรูปมีขนาดหน้าตัก 45 นิ้ว เนื่องจาก 4+5 = 9 เลขมงคล พระพุทธรูปได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 และแสดงถึงความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ทางด้านสติ สมาธิ ปัญญา ในเรื่องของความงาม ความดี และความจริง ความงามในส่วนของพระพุทธศิลปะ ความดีในส่วนของพระพุทธศาสนา และความจริง ในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และพึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า
โดยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ณ ลานอนันต์รังสรรค์ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้มีการจัดพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยฯ โดยได้รับเมตตาอย่างยิ่งจาก สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระอาจารย์ที่เป็นที่เคารพ ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวน 8 รูป เมตตามาอธิษฐานจิตประกอบด้วย พระสุนทรธรรมานุวัตร (หลวงพ่อเอียด) วัดไผ่ล้อม จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูประโชติธรรมวิจิตร (หลวงพ่อเพิ่ม) วัดป้อมแก้ว จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูสมบูรณ์จริยธรรม (หลวงพ่อแม้น) วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูโสภณถิรคุณ (หลวงพ่อสุนทร) วัดหนองสะเดา จ.สระบุรี พระครูวิชัยกิจจารักษ์ (หลวงพ่ออุดม) วัดพิชัยสงคราม จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูสิริบุญเขต (หลวงพ่อมี) วัดม่วงคัน จ.อ่างทอง พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ (หลวงพ่อพูน) วัดบ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูอดุลวิริยกิจ (หลวงพ่อเอื้อน) วัดวังแดงใต้ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระมหาเป็นหนึ่ง สุนทรเมธี วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
หอพระพุทธพิริยมงคล
“ปัญญาภาวนา” แนวคิดการออกแบบหอพระพุทธพิริยพมงคล พระพุทธรูประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผลงานของนายอนุวัฒน์ เติมเจิม อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม
นายอนุวัฒน์ เติมเจิม เผยว่า การออกแบบหอพระพุทธพิริยมงคล เป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณี แนวคิด“ปัญญาภาวนา” โดยมีดอกบัวเป็นสื่อสัญลักษณ์ และใช้เป็นสิ่งอุปมาแก่การออกแบบรูปทรง และเครื่องประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยมุ่งสร้างความหมายโดยนัย คือ ความเจริญงอกงามแห่งปัญญาจากความเพียรในการพัฒนาชีวิต ด้วยการเน้นจัดวางจังหวะขององค์ประกอบก้าวหน้าที่แสดงนัยของความเปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณภาพ เช่นเดียวกับปัญญาที่ได้รับการพัฒนาเป็นลำดับไปจนถึงขีดสุด พร้อมกับแฝงความหมายทางพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องไว้ในลักษณะขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเหล่านั้น ได้แก่บัวสี่เหล่า ปัญญาสาม ภาวนาสี่ อริยสัจสี่ มรรคแปด โลกุตรธรรมเก้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพียร คือธรรมอันเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุขความเจริญ หัวใจของความสำเร็จสูงสุดแห่งกระบวนการพัฒนาชีวิต อันมีพระพุทธพิริยมงคลเองเป็นตัวแสดงและเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จสูงสุด
ก่อให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ของการออกแบบ คือ เอกภาพของรูปและความหมายระหว่างองค์พระพุทธรูปกับหอพระ และการเป็นสัญลักษณ์ที่มาเสริมสร้างความหมายแห่งสถานที่แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อันเป็นที่ตั้งตามนัยของ “มหาวิทยาลัยแห่งดอกบัว” คือ “สถานที่แห่งการพัฒนาปัญญา” พื้นฐานสำคัญในการสร้างแนวคิด คือ การออกแบบให้สัมพันธ์กับสัญลักษณ์สำคัญคือดอกบัว ได้แก่ ดอกบัวในตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นบัว 8 กลีบรองรับพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 9 ประติมากรรมบัวทอง มีลักษณะเป็นรูปดอกบัว 4 ชั้น มีกลีบบัวเป็นเส้น 8 เส้น ซ้อนกัน 3 ชั้น ในลักษณะสลับ ลดหลั่นกันขึ้นสูงรับยอดรูปบัวตูม บัวสวรรค์ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์บัว แหล่งเรียนรู้ ศึกษาและรวบรวมอนุรักษ์สายพันธุ์บัว ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย
และการออกแบบให้สัมพันธ์กับพุทธลักษณะของพระพุทธพิริยมงคล โดยพระพุทธพิริยมงคล มีพุทธลักษณะอันสงบงาม แนวแน่มั่นคงด้วยความเพียร ตามนัยของปางสมาธิเพชร และมีศิลปะลักษณะเป็นอย่างเรียบง่ายด้วยเส้นสายที่น้อย แต่อ่อนช้อย ถึงความพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ส่วนบนของพระเศียรมีพระรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูมอยู่เหนืออุษณีษะ โดยรูปทรงเป็นอย่างจัตุรมุข รวมเข้ากับรูปและความหมายแห่งแนวความคิดที่วางไว้ข้างต้น จึงก่อรูปขึ้นทรงอาคารเป็นทรงทางแนวตั้งตามแบบลักษณะอาคารเครื่องยอดหรือ กุฎาคาร โดยใช้เส้นทรงจอมแหเป็นเครื่องกำกับรูปทรงโดยรวม ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐาน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือชั้นฐานไพที และชั้นฐานอาคาร
ส่วนเรือนธาตุ มีลักษณะเปิดโล่ง 3 ด้าน ด้านหลังเป็นฉากผนังทึบ มีเสาลอยรับมุขทั้ง 4 ด้านสร้างความโปร่งให้แก่รูปทรง และส่วนยอด แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนหลังคา เป็นทรงจั่วจัตุรมุข มีมุขลด 4 ด้าน ลักษณะอย่างซุ้มจระนำ ไม่มีหน้าบัด สัดส่วนจั่วใช้ช่วงพาดต่อความสูง และส่วนเครื่องยอดเป็นทรงบัวกลุ่มแปดเหลี่ยม 3 ชั้นเทินอยู่บนจุดตัดสันหลังคา จัดวางแต่ละชั้นสับหว่างด้านกับมุม มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นสูงภายใต้เส้นทรงจอมแห โดยได้แบบอย่างมาจากประติมากรรมบัวทอง องค์ประกอบประดับส่วนยอดสูงของหอพระ คือ เม็ดน้ำค้าง ออกแบบเป็นบัวกลุ่ม 4 ชั้นอยู่ในรูปทรงดอกบัวตูม เครื่องประกอบ และลาย เครื่องลำยอง คือเครื่องปิดมุงหลังคาด้านหน้าจั่วที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม แบบเครื่องลำยองที่ใช้เป็นลักษณะอย่างที่เรียกว่า รวยระกา ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ การออกลายทั้งหมดเป็นเอกภาพตามแนวคิด “ปัญญาภาวนา” คือการพัฒนาปัญญาเจริญงอกงาม ฐานซุกซี ออกเป็นลักษณะแบบฐานสิงห์ แต่เกลาให้เรียบไม่มีรายละเอียดหรือลาย เพื่อรับกับลักษณะของรัตนบัลลังก์
หอพระถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อ สร้างแล้วรื้อถอนไม่ได้ จึงต้องกำหนดขึ้นโดยความเหมาะสมในระดับผังแม่บทของมหาวิทยาลัย และควรมีสภาพที่เหมาะสมที่ส่งเสริมความชุ่มชื่นเบิกบานใจแก่ชนทั้งหลาย ดังนั้นบริเวณที่ตั้งของหอพระควรตั้งบนแนวแกนสำคัญของผังมหาวิทยาลัย วางแนวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้านทิศตะวันออกเป็นด้านหน้าหันเข้าสู่คลองหก ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในระดับสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ก็ล้วนตั้งอยู่บนแกนนี้เช่นกันเรียงลำดับจากทิศตะวันตกไป ได้แก่ หอประชุมใหญ่ ลานอนันต์รังสรรค์ ประติมากรรมบัวทอง และเสาธง โดยมีสระน้ำใหญ่ และพื้นที่เปิดโล่งอยู่ถัดไปด้านหน้าอีกฟากหนึ่งของสระน้ำเป็นสวนป่ามีธรรมชาติร่มรื่นอันเหมาะแก่การสร้างหอพระ
มหาวิทยาลัยได้อัญเชิญพระพุทธพิริยมงคล ไปประดิษฐานยังหอพระ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561และเจริญพระพุทธมนต์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2561
สถานที่: หอพระพุทธพิริยมงคล หอพระประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ภาพถ่ายโดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
จัดทำอัลบั้มภาพโดย : งานพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลเว็บไซต์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี